Russo-Japanese War (1904-1905)

สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๔๘)

สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕ เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นในการแข่งขันเพื่อขยายอำนาจและดินแดนในเอเชียตะวันออกเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และเป็นสงครามแรกที่ประเทศในเอเชียมีชัยชนะเหนือประเทศมหาอำนาจยุโรป ชัยชนะของญี่ปุ่นต่อรัสเซียได้สร้างกระแสลัทธิชาตินิยมให้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นและนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านลัทธิอาณานิคม (colonialism) ทั่วภูมิภาคเอเชีย สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นกินเวลา ๑ ปี ๖ เดือนและการรบส่วนใหญ่เป็นการยุทธทางทะเลยุทธนาวีครั้งใหญ่ที่สำคัญคือยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ (Battle of Tsushima)* ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งนักประวัติศาสตร์เปรียบเทียบว่ามีความสำคัญเท่ากับยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar)* ในช่วงสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ.๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ยุทธนาวีครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลเช่นเดียวกับอังกฤษจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นสิ้นสุดลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาพอร์ตสมัท (Treaty of Portsmouth) เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๐๕ ผลกระทบที่สำคัญประการหนึ่งของสงครามครั้งนี้คือ กระแสการต่อต้านของประชาชนรัสเซียต่อรัฐบาลที่ก่อตัวขึ้นในต้น ค.ศ. ๑๙๐๕ ขยายตัวในวงกว้างซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปประเทศจนเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ขึ้นในเดือนตุลาคมที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg)

 สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕ เป็นผลสืบเนื่องจากการขยายอำนาจและอิทธิพลของรัสเซียในตะวันออกไกล ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ รัสเซียขยายอิทธิพลเข้าไปในจีนซึ่งกำลังอ่อนแอและถูกประเทศมหาอำนาจตะวันตกเข้าไปแทรกแซงและแยงชิงผลประโยชน์ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเพื่อแย่งชิงเกาหลีใน ค.ศ. ๑๘๔๔ ได้นำไปสู่สงครามจีน-ญี่ปุ่น (Sino-Japanese War ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๘๙๕) และจีนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต่อมารัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศสได้เข้าแทรกแซงในการลงนามสนธิสัญญาชิโมะโนะเซะกิ (Treaty of Shimonoseki) ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ค.ศ. ๑๘๙๕ โดยบีบบังคับให้ญี่ปุ่นถอนการเข้าครอบครองคาบสมุทรเหลียวตง (Liaodong) และเมืองท่าปอร์ตอาเทอร์ (Port Arthur) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๙๗ รัสเซียทำความตกลงกับจีนโดยได้สิทธิเช่าเมืองปอร์ตอาเทอร์ เมืองทาเลียนวัน (Talienwan) และบริเวณน่านน้ำโดยรอบ ในปีต่อมารัสเซียยังควบคุมพื้นที่เส้นทางรถไฟสายตะวันออกของจีน (Chinese Eastern Railway) ซึ่งจีนยินยอมให้สิทธิแก่รัสเซียในการสร้างเส้นทางรถไฟเป็นระยะทาง ๑,๕๒๐ กิโลเมตร โดยแล่นจากจีนผ่านแมนจูเรีย (Manchuria) ไปยังเมืองท่าวลาดิวอสตอค (Vladivostock) ของรัสเซียสิทธิดังกล่าวมีระยะเวลา ๘๐ ปี

 ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นรัสเซียก็เริ่มสร้างเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans-Siberian) ทางฝั่งตะวันตกจากเมืองอีร์คุตสค์ (Irkutsk) ในไซบีเรียผ่านทะเลสาบไบคาส (Baikal) ตัดเข้าสู่ฝั่งตะวันออกของเมืองเซรเตนสค์ (Sretensk) ใกล้แม่น้ำอามูร์ (Amur) ทางตอนเหนือ แต่การได้สิทธิควบคุมพื้นที่เส้นทางรถไฟสายตะวันออกของจีนทำให้รัสเซียต้องปรับแนวเส้นทางรถไฟสายทรานซ์ไซบีเรียใหม่โดยตัดผ่านข้ามแมนจูเรียจากจีนทางฝั่งตะวันออกทะเลสาบไบคาสยาว ๔๘๓ กิโลเมตร แทนเส้นทางไปยังเมืองเซรเตนสค์โดยแล่นผ่านเมืองฮาร์บิน (Harbin) ไปยังเมืองวลาดิวอสตอคเพื่อบรรจบกับเส้นทางรถไฟสายตะวันออกของจีน ในปลาย ค.ศ. ๑๘๙๘ รัสเซียยังเริ่มสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่จากเมืองฮาร์บินผ่านเมืองมุกเดน [Mukden ปัจจุบันคือเมืองเฉิ่นหยาง (Shenyang)] ไปยังเมืองปอร์ตอาเทอร์ซึ่งเป็นฐานทัพเรือในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย เส้นทางรถไฟสายนี้มีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏนักมวย (Boxer Rebellion) ขึ้นและพวกกบฏได้เผาทำลายสถานีรถไฟที่เมืองเทียนจีน (Tianjin) และเหลียวหยาง (Lioyang) รัสเซียจึงเห็นเป็นโอกาสระดมพลและเข้ายึดครองแมนจูเรียในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๐๐

 การยึดครองแมนจูเรียของรัสเซียทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจและหวาดวิตกว่ารัสเซียจะหาวิธีการเข้าควบคุมจีนและยึดครองเกาหลี อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นก็ตระหนักว่าตนยังไม่มีกำลังทหารเข้มแข็งพอที่จะต่อต้านการขยายอำนาจของรัสเซียจึงยินยอมทำความตกลงกับรัสเซียโดยให้รัสเซียควบคุมแมนจูเรียเพื่อแลกเปลี่ยนให้ญี่ปุ่นเข้าควบคุมเกาหลีทางตอนเหนือ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังพยายามคานอำนาจรัสเซียด้วยการทำสนธิสัญญาพันธมิตรอังกฤษ-ญี่ปุ่น (Anglo-Japanese Alliance) ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ สาระสำคัญของสนธิสัญญาพันธมิตรฉบับนี้คือ อังกฤษจะสกัดกั้นรัสเซียไว้ในน่านน้ำแปซิฟิกภายในปริมณฑลของเมืองท่าวลาดิวอสตอคและปอร์ตอาเทอร์ และหากประเทศใดเข้าร่วมสนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามกับญี่ปุ่น อังกฤษก็จะเข้าสู่สงครามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นสนธิสัญญาฉบับนี้จึงไม่เพียงจะขัดขวางทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสไม่ให้เข้าช่วยเหลือรัสเซียเพราะอาจจะต้องก่อสงครามกับอังกฤษแล้ว แต่ยังจะทำให้รัสเซียต้องยอมทำความตกลงกับญี่ปุ่นใหม่อีกด้วย รัสเซียยอมลงนามเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ โดยจะถอนกำลังทหารออกจากแมนจูเรียภายในเวลา ๑๘ เดือน และจะดำเนินการเป็น ๒ ระยะในระยะแรกรัสเซียยอมถอนทหารออกแต่โดยดีแต่หลังเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๓ ก็ปฏิเสธที่จะดำเนินการต่อไปโดยอ้างว่าแมนจูเรียยังอยู่ในภาวะที่ไม่สงบ ขณะเดียวกันรัสเซียเริ่มเสริมกำลังที่เมืองปอร์ตอาเทอร์และเพิ่มกำลังทางเรือในน่านนั้าแปซิฟิก

 ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้รับคำสั่งจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ประท้วงรัสเซียอย่างเป็นทางการในการละเมิดความตกลง ค.ศ. ๑๙๐๒ และตามด้วยการประกาศยุติความสัมพันธ์ทางการค้า แต่รัสเซียไม่ใสใจต่อการประท้วงดังกล่าว ต่อมา ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ ญี่ปุ่นเปิดการเจรจาต่อรองอีกครั้งโดยเสนอเงื่อนไขให้รัสเซียครอบครองแมนจูเรียเหนือและญี่ปุ่นครอบครองแมนจูเรียใต้กับเกาหลี รัสเซียไม่ตอบรับแตกไม่ปฏิเสธข้อเสนอของญี่ปุ่นและยังคงกองกำลังทหารไว้ในแมนจูเรียในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ญี่ปุ่นจึงประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซีย และในวันรุ่งขึ้นก็ให้เคานต์แลมส์ดอร์ฟ (Lamsdorf) เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซียเดินทางออกจากญี่ปุ่น อีก ๓ วันต่อมา ในคืนวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ สามชั่วโมงก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศสงครามกับรัสเซีย เรือรบหลวงญี่ปุ่นซึ่งนายพลโทโง เฮฮะชิโร (Tōgō Heihachirō) เป็นผู้บังคับบัญชาก็เปิดฉากสงครามด้วยการส่งเรือประจัญบานยิงตอร์ปิโดโจมตีกองเรือรัสเซียที่ปอร์ตอาเทอร์ การโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันทำให้รัสเซียเป็นฝ่ายเสียเปรียบโดยสูญเสียเรือไป ๓ ลำ และนำไปสู่ยุทธนาวีที่ปอร์ตอาเทอร์ (Battle of Port Arthur) ในวันรุ่งขึ้นซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗)* ทรงตกตะลึงต่อข่าวการโจมตีของญี่ปุ่นอย่างมากเพราะไม่เชื่อว่าญี่ปุ่นจะจุดชนวนสงครามโดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการก่อน ทั้งทรงได้รับการยืนยันจากองคมนตรีว่าญี่ปุ่นจะไม่กล้าก่อสงครามในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ญี่ปุ่นประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ อีก ๖ วันต่อมาคือในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ รัฐบาลรัสเซียก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น

 เมื่อสงครามเกิดขึ้น รัสเซียมีกองทหารประจำการที่ใหญ่ที่สุดในโลกประมาณ ๑,๓๕๐,๐๐๐ คนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ยุโรป ในตะวันออกไกลรัสเซียมีกองทัพน้อย ๒ หน่วย โดยมีกำลังทหารรวมกัน ๙๘,๐๐๐ คน และกองทหารประจำการท้องถิ่นอีก ๒๔,๐๐๐ คน พร้อมอาวุธปืนใหญ่ ๑๙๘ กระบอก และอยู่กระจัดกระจายทั่วแมนจูเรีย ชายฝั่งแปซิฟิก และภูมิภาคไบคาล ส่วนกองเรือตะวันออกไกลรัสเซียประกอบด้วยเรือรบ ๖๓ ลำซึ่งรวมทั้งเรือประจัญบาน ๗ ลำ และเรือลาดตระเวนอีก ๑๑ ลำ แต่ส่วนใหญ่ชำรุด นอกจากนี้ ปืนใหญ่ประจำป้อมปอร์ตอาเทอร์ส่วนใหญ่ก็ล้าสมัย ญี่ปุ่นในช่วงเกิดสงครามสามารถระดมกำลังได้ถึง ๓๗๕,๐๐๐ คนพร้อมอาวุธปืนใหญ่ ๑,๑๔๐ กระบอกและปืนกล ๑๔๗ กระบอกรวมกับเรือรบอีก ๘๐ ลำ ซึ่งรวมทั้งเรือประจัญบาน ๖ ลำและเรือลาดตระเวน ๒๐ ลำ รัสเซียจึงไม่พร้อมที่จะเข้าสู่สงครามทันทีเมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ดังนั้น แผนรบของรัสเซียจึงเป็นการพยายามประวิงเวลาในการปะทะกับญี่ปุ่นไว้เพื่อเร่งเสริมกำลังในพื้นที่แถบเหลียวหยางและเคลื่อนกองกำลังทางใต้จากพื้นที่เส้นทางรถไฟสายตะวันออกมาสมทบ

 ในยุทธนาวีที่ปอร์ตอาเทอร์ระหว่างวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ถึง ๑๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๔ กองเรือญี่ปุ่นและรัสเซียปะทะกันประปรายหลายครั้ง และญี่ปุ่นก็ไม่สามารถทำลายฐานทัพเรือรัสเซียได้เนื่องจากทหารปืนใหญ่ประจำชายฝั่งปกป้องอย่างทรหด อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นสามารถปิดล้อมกองเรือรัสเซียไม่ให้แล่นออกสู่ทะเลหลวงได้หลังการควบคุมน่านนั้าได้ ญี่ปุ่นเริ่มยกพลขึ้นบกที่เมืองเจมุลโป [Chemulpo ปัจจุบันคือเมืองอินชอน (Inchon)] บนคาบสมุทรเกาหลี และรุกคืบหน้าจนยึดกรุงโซล (Seoul) รวมทั้งพื้นที่ส่วนที่เหลือทั้งหมดของเกาหลีไว้ได้ จากนั้นกองทัพญี่ปุ่นก็บุกข้ามแม่น้ำยาลู (Yalu) เข้าไปยังแมนจูเรียในส่วนที่รัสเซียยึดครอง ในยุทธการที่แม่น้ำยาลู (Battle of the Yalu River) เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ ญี่ปุ่นมีชัยชนะเหนือรัสเซียและกองทหารรัสเซียต้องถอยหนีไปยังปอร์ตอาเทอร์ ชัยชนะในการรบภาคพื้นดินครั้งแรกนี้สร้างความฮึกเหิมให้แก่ญี่ปุ่นอย่างมากและญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังพลต่อไปที่เมืองปิซูโว (Pitzuwo) เพื่อเข้ายึดคอคอดหนานชาน (Nanshan) ซึ่งควบคุมเส้นทางทะเลไปสู่คาบสมุทรเหลียวตงและเมืองท่าปอร์ตอาเทอร์ ในยุทธการที่หนานชาน (Battle of Nanshan) เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ กองทหารญี่ปุ่นประมาณ ๓๕,๐๐๐ คนโหมโจมตีอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนฝ่ายรัสเซียซึ่งมีกำลังประมาณ ๔,๐๐๐ คนไม่สามารถต้านไว้ได้และต้องหนีถอยอย่างไม่เป็นกระบวน แม้ญี่ปุ่นจะสูญเสียทหารเป็นจำนวนมากแต่ก็ควบคุมหนานชานไว้ได้และรุกคืบหน้าจนยึดเมืองดาลนี [Dalny ปัจจุบันคือเมืองต้าเหลียน (Dalian)] ที่คาบสมุทรเหลียวตงได้ ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นใช้เมืองดาลนีเป็นฐานกำลังเตรียมยึดปอร์ตอาเทอร์

 ในช่วงการปิดล้อมอ่าวที่ปอร์ตอาเทอร์ พลเรือโทมาคารอฟ (Makarov) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองเรือรัสเซียแปซิฟิก ๑ (First Russian Pacific Squadron) พยายามตีฝ่าการปิดล้อมของญี่ปุ่นและสามารถนำเรือรบเปโตรปัฟสอฟสค์ (Petropavlovsk) และเรือธงโปเบดา (Pobeda) หนีออกจากอ่าวได้ แต่ในวันที่ ๑๒ เมษายนเรือรัสเซียทั้ง ๒ ลำก็แล่นชนทุ่นระเบิดที่ญี่ปุ่นวางไว้บริเวณปากอ่าว เรือรบเปโตรปัฟลอฟสค์อับปางและมาคารอฟ เสียชีวิต ส่วนเรือโปเบดาสามารถแล่นกลับไปปอร์ตอาเทอร์ได้ การสูญเสียครั้งนี้ทำให้กองทัพรัสเซียเสียขวัญและกำลังใจ ต่อมา เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงทราบข่าวก็ตัดสินพระทัยส่งกองเรือรบจากฐานทัพในทะเลบอลติกมาเสริมกำลังทางเรือที่เหลืออยู่ที่ปอร์ตอาเทอร์ ในกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ กองเรือรัสเซียได้หลอกล่อให้เรือรบญี่ปุ่น ๒ ลำ ตามไล่ล่าเข้าไปในเขตทุ่นระเบิดและประสบความสำเร็จในการทำลายเรือรบทั้ง ๒ ลำซึ่งแต่ละลำแล่นชนทุ่นระเบิดกว่า ๒ ลูกจนอับปางลง

 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ เรือรบรัสเซียพยายามหลบหนีการปิดล้อมเพื่อมุ่งไปเมืองวลาดิวอสตอคแต่ขณะแล่นถึงทะเลเปิดก็เผชิญกับกองเรือรบญี่ปุ่นของนายพลโทโงและนำไปสู่ยุทธนาวิแห่งทะเลเหลือง (Battle of the Yellow Sea) เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม เรือรบทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างระดมยิงกันไม่ขาดสายและในท้ายที่สุดเรือรบเซซาเรวิช (Tsesarevich) ถูกกระสุนตรงสะพานเรือและนายพลวิตเกฟต์ (Vitgeft) ผู้บัญชาการเรือเสียชีวิต เรือรัสเซียจึงต้องหนีกลับไปยังฐานที่ปอร์ตอาเทอร์ ในยุทธนาวีครั้งนี้ถือว่าเสมอกันเพราะไม่มีเรือรบของฝ่ายใดถูกยิงจมสู่ก้นทะเล หลังยุทธนาวีครั้งนี้ญี่ปุ่นโหมบุกทางภาคพื้นดินและในปลายเดือนสิงหาคมในยุทธการที่เหลียวหยาง (Battle of Liaoyang) ก็มีชัยชนะต่อกองทัพรัสเซีย ที่มุกเดนรัสเซียสูญเสียทหารประมาณ ๑๔,๐๐๐ คนหลังชัยชนะครั้งนี้ ญี่ปุ่นทุ่มกำลังเข้าโจมตีปอร์ตอาเทอร์ด้วยการวางแผนบุกโจมตีอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดโดยประสานการรบระหว่างกองกำลังภาคพื้นดินกับทางทะเล รัสเซียซึ่งไม่ได้ระวังตัวได้รับความเสียหายอย่างหนักและผู้บัญชาการกองทหารประจำป้อมที่ปอร์ตอาเทอร์ตัดสินใจยอมจำนนโดยไม่ขอคำแนะนำจากผู้บัญชาการระดับสูงปอร์ตอาเทอร์จึงถูกยึดครองในวันที่ ๒ มกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕

 ในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังมุ่งพิชิตรัสเซียทั้งทางภาคพื้นดินและทางทะเลอยู่นั้น กองเรือแปซิฟิก ๒ ของรัสเซียจากฐานทัพในทะเลบอลติกได้ออกเดินทางมาตะวันออกไกลโดยใช้เส้นทางแล่นอ้อมแหลมกู๊ดโฮปซึ่งเป็นระยะทาง ๒๙,๐๐๐ กิโลเมตร เนื่องจากไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านคลองสุเอซ (Suez) ได้เพราะอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรญี่ปุ่นควบคุมเส้นทางอยู่ การเดินทางรอบโลกซึ่งใช้เวลาเกือบ ๙ เดือนเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจและติดตามเสนอข่าวมีการรายงานข่าวการโจมตีเรือหาปลาของอังกฤษที่บริเวณด็อกเกอร์แบงก์ (Dogger Bank) เนื่องจากรัสเซียเข้าใจผิดว่าเป็นเรือรบญี่ปุ่น ข่าวเรื่องการหาสถานีเดิมน้ำมันระหว่างเส้นทาง รวมทั้งข่าวการหยุดซ่อมบำรุงเรือซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการเดินทางอันยาวไกล และสมบุกสมบัน

 เมื่อกองเรือแปซิฟิก ๒ เดินทางมาถึงเกาะมาดากัสการ์ (Madagascar) ก็ได้ข่าวว่าปอร์ตอาเทอร์กำลังจะตกอยู่ในมือของกองทัพภาคพื้นดินญี่ปุ่นและกองเรือรบรัสเซียที่ปอร์ตอาเทอร์ถูกระดมยิงเสียหายหนัก ข่าวดังกล่าวทำให้นายพลรอเจสต์เวนสกี (Rozhestvensky) ตัดสินใจนำกองเรือมุ่งหน้าไปยังเมืองวสาดิวอสตอค ระหว่างที่เตรียมตัวออกจากมาดากัสการ์ รอเจสต์เวนสกีได้รับคำสั่งให้รอกองเรือแปซิฟิก ๓ มาสมทบแต่เขาปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามเพราะเห็นว่ากองเรือแปซิฟิก ๓ เป็นกองเรือรบที่ไม่เข้มแข็งและจะเป็นภาระกับเขา ในการเดินทางไปยังวลาดิวอสตอคนั้นมีเส้นทางเดินเรือ ๓ เส้นทางแต่เส้นทางตรงที่สั้นที่สุดแต่อันตรายที่สุดจะต้องผ่านช่องแคบสึชิมะที่อยู่ระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่นทั้งใกล้กับญี่ปุ่นด้วย กองเรือแปซิฟิก ๒ ออกเดินทางจากมาดากัสการ์ในกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ และใช้เวลาเดินทางตอนกลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรือญี่ปุ่นค้นพบ แต่โชคร้ายเพราะเรือพยาบาลลำหนึ่งในขบวนเรือไม่พรางแสงไฟ เรือลาดตระเวนญี่ปุ่นจึงจับได้และส่งโทรเลขไปแจ้งข่าวศูนย์บัญชาการกองเรือของนายพลโทโง กองเรือรบญี่ปุ่นจึงเตรียมดักซุ่มโจมตีบริเวณช่องแคบสึชิมะและนำไปสู่ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะระหว่างวันที่ ๒๗-๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๕

 ในยุทธนารีที่ช่องแคบสึชิมะ ทั้งรัสเซียและญี่ปุ่นต่างมีกำลังเท่าเทียมกันแต่ญี่ปุ่นใช้ยุทธวิธีรบแปรขบวนเรือเป็นรูปตัวยู เมื่อเคลื่อนกำลังประกบกองเรือศัตรูได้เรือทุกลำจะเริ่มระดมยิงพร้อมกัน รัสเซียจึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะงุนงงกับการแปรแถวเป็นรูปตัวยูของกองเรือญี่ปุ่นและไม่สามารถแล่นหนีทันเรือรบญี่ปุ่นซึ่งแล่นขึ้นมาถึงตอนหน้าของกองเรือรบรัสเซียเพื่อสกัดไม่ให้แล่นออกไปจากช่องแคบ นอกจากนี้ กองเรือแปซิฟิกที่ ๓ ซึ่งอยู่หลังขบวนและเป็นกองเรือรบรุ่นเก่าก็ไม่กล้ายิงเรือญี่ปุ่นเพราะเกรงว่ากระสุนจะพลาดถูกเรือพวกเดียวกัน กองเรือรัสเซียถูกระดมยิงจมลงหลายลำและนายพลรอเจสต์เวนสกีได้รับบาดเจ็บสาหัสจนไม่สามารถบัญชาการรบได้ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม กองเรือรัสเซียที่เหลือก็ยอมยกธงขาว

 ในยุทธนารีครั้งนี้รัสเซียเป็นฝ่ายเสียหายอย่างหนักโดยเรือรบถูกยิงจมลง ๘ ลำ และที่เหลือถูกปลดอาวุธถูกยึดผู้บัญชาการเรือและทหารรวม ๖,๐๐๐ คน ถูกจับเป็นเชลย และจำนวนกว่า ๕,๐๐๐ คนเสียชีวิต มีเพียงเรือลาดตระเวน ๑ ลำ และเรือตอร์ปิโด ๒ ลำเท่านั้นที่สามารถหลบหนีไปถึงวลาดิวอสตอคได้ ส่วนญี่ปุ่นเสียเรือตอร์ปิโด ๓ ลำ และมีทหารเสียชีวิตเพียง ๑๑๖ คนเท่านั้น ยุทธนาวีครั้งนี้เป็นการยุทธทางทะเลครั้งใหญ่ที่สำคัญเพราะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความพ่ายแพ้ของรัสเซียส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อสถานการณ์สังคมและการเมืองภายในประเทศ เพราะกระแสการต่อต้านรัฐบาลและซาร์นิโคลัสที่ ๒ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้ขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นในเวลาเดียวกันทหารและกะลาสีเรือที่เมืองวลาดิวอสตอคบนส่งมหาสมุทรแปซิฟิก เซวัสโตโปล (Sevastopol) ในคาบสมุทรไครเมีย และที่ฐานทัพเรือครอนสตัดท์ (Kronstadt) บนฝั่งทะเลบอลติก ก็ก่อการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและร่วมสนับสนุนการประท้วงนัดหยุดงานในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโก

 แม้รัสเซียจะพ่ายแพ้อย่างยับเยินที่สึชิมะ แต่ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ยังทรงมุ่งมั่นที่จะทำสงครามต่อทั้งทรงคาดหวังว่าสงครามจะกระตุ้นความรักชาติและหันเหประชาชนจากปัญหาการเมืองภายใน ทรงกำหนดแผนยุทธศาสตร์การรบขึ้นใหม่ด้วยการเสริมกำลังพลจำนวนมากโดยใช้เส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียลำเลียงพลและอาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียมายังตะวันออกไกลโดยคาดหวังว่าด้วยกำลังพลที่เหนือกว่าญี่ปุ่นกว่าหนึ่งเท่าตัวจะทำให้รัสเซียเอาชนะได้ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปประเทศของปัญญาชนและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Democratic Party) หรือพรรคคาเดตส์ (Kadets) ซึ่งมีปาเวล มิลยูคอฟ (Pavel Milyukov)* เป็นผู้นำ และการประท้วงนัดหยุดงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงเปลี่ยนพระทัยเพราะตระหนักว่าสงครามไม่สามารถโน้มน้าวประชาชนได้และจำเป็นต้องใช้กองกำลังส่วนหนึ่งรักษาความสงบและแก้ไขปัญหาภายใน อีกทั้งฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรก็เรียกร้องให้รัสเซียยุติสงคราม ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นซึ่งขาดกำลังคนและกำลังเริ่มประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจก็แสดงท่าทีให้เห็นว่าพร้อมที่จะเปิดการเจรจา ประธานาธิบดีทีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการติดต่ออย่างลับ ๆ จากญี่ปุ่นให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยจึงประสานเรื่องการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นและนำไปสู่การพบปะหารือกันของทั้ง ๒ ฝ่ายที่เมืองพอร์ตสมัท (Portsmouth) รัฐนิวแฮมป์เชียร์ (New Hampshire) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งในเวลาต่อมาบทบาทดังกล่าวของรูสเวลต์มีส่วนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วย

 ในการเจรจาสันติภาพที่เมืองพอร์ตสมัท เซียร์เกย์ ยูเลียวิช วิตเต (Sergei Yulyevich Witte)* ประธานสภาเสนาบดี (Council of Ministers) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของรัสเซียในการเจรจา และความสำเร็จในการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ทำให้ในเวลาต่อมาวิตเตได้รับแต่งตั้งเป็นเคานต์ ส่วนญี่ปุ่นมีบารอนโคะมุระ (Komura) ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทั้ง ๒ ฝ่าย ยอมยุติสงครามและร่วมลงนามในสนธิสัญญาพอร์ตสมัทเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ค.ศ.๑๙๐๕ สาระสำคัญของสนธิสัญญาคือ จีนได้รับแมนจูเรียคืน แต่แมนจูเรียเหนือบริเวณพื้นที่ซึ่งมีเส้นทางรถไฟสายตะวันออกของจีนที่เชื่อมต่อกับสายทรานส์ไซบีเรียยังคงอยู่ในการควบคุมของรัสเซีย และไม่มีการคิดค่าปฏิกรรมสงครามจากทั้ง ๒ ฝ่าย รัสเซียยอมรับว่าเกาหลีเป็นเขตอิทธิพลของญี่ปุ่นและถอนสิทธิการเช่าปอร์ตอาเทอร์ที่คาบสมุทรเหลียวตงและทางตอนใต้ของเกาะซาคาลิน (Sakhalin) ตลอดจนยอมถอนกำลังออกจากแมนจูเรีย ญี่ปุ่นได้เกาะซาคาลินทั้งหมด ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่ชาติตะวันตกเริ่มยำเกรงและมีอิทธิพลเหนือเกาหลีซึ่งต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๐ ญี่ปุ่นก็ผนวกเกาหลีเป็นอาณานิคมของตน

 สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในตะวันออกไกลและเปิดทางให้ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออก รัสเซียซึ่งเป็นฝ่ายปราชัยต้องหันไปปรับปรุงกองทัพให้เข้มแข็งและเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมที่เป็นผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้สงครามจนนำไปสู่การปฏิวัติในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นยังวางรูปแบบใหม่ของการนำเทคนิคและยุทธวิธีรบที่ทันสมัยมาใช้ในสงครามทั้งทางบกและทางทะเล อาทิ การวางมาตรฐานการเกณฑ์ทหาร การใช้สนามเพลาะ เทคนิคการยิงโดยกระสุนวิถีโค้งด้วยปืนใหญ่หรือการยิงเล็งจำลอง (indirect fire) ที่รวดเร็วและแม่นยำและอื่น ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำร่องของการรบในศตวรรษใหม่ที่จะเกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ในเวลาต่อมา.



คำตั้ง
Russo-Japanese War
คำเทียบ
สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย
- พรรคคาเดตส์
- พรรคประชาธิปไตย
- พรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
- มิลยูคอฟ, ปาเวล
- ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ
- ยุทธนาวีที่ปอร์ตอาเทอร์
- ยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์
- รางวัลโนเบล
- ลัทธิชาตินิยม
- ลัทธิอาณานิคม
- วันอาทิตย์นองเลือด
- สงครามนโปเลียน
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาพอร์ตสมัท
- สภาเสนาบดี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1904-1905
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๔๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-